การ “ลดน้ำหนัก” กับ 10 ความเชื่อผิดๆ

ผู้หญิง หรือ ผู้ชายส่วนใหญ่สมัยนี้ มักจะมีความกังวลเกี่ยวกับการ ลดน้ำหนัก และการลดความอ้วนอยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ คนส่วนมากมักจะมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการ ลดน้ำหนัก ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่เห็นผล แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นถูกหรือเปล่า? ทำไมทำทุกอย่างแล้วน้ำหนักจึงไม่ลด? วันนี้คุณหมอตุ้ม และ FAT center จะมาแชร์ถึง 10 เรื่องผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนักให้ฟังค่ะ

1. ลดน้ำหนักต้องอดอาหาร

การลดน้ำหนักหรือการลดความอ้วน ต้องมีการควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่เราทานเข้าไปให้เหมาะสม ซึ่งการควบคุมปริมาณแคลอรี่ไม่ใช่การอดอาหารแต่อย่างใดนะคะ หากต้องการลดน้ำหนัก เราต้องให้ร่างกายมีการใช้พลังงานหรือมีการเผาผลาญพลังงานให้มากกว่าพลังงานอาหารที่เราทานเข้าไป ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงต้องควบคุมปริมาณแคลอรี่ โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ และผู้ชายต้องการพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่ เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวันและรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ หากต้องการลดน้ำหนัก แนะนำให้ลองลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานลงวันละ 500 กิโลแคลอรี่ หรือเพิ่มกิจกรรมในแต่ละวันให้มีการเผาผลาญมากขึ้นวันละ 500 กิโลแคลอรี่ ก็จะเป็นอีกทางที่ช่วยลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลกับการใช้พลังงานในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยจะขึ้นอยู่กับเพศ อายุ กิจกรรมแต่ละวัน เป็นต้น หากไม่แน่ใจว่าควรทานอาหารในปริมาณเท่าไรถึงจะเหมาะสมกับการลดน้ำหนักโดยที่สุขภาพยังคงแข็งแรง การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้ดีขึ้น

2. ลดน้ำหนักต้องทานแค่เนื้อสัตว์

ในภาวะปกติที่ร่างกายไม่ได้อยู่ในสภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง ร่างกายจะไม่มีการนำโปรตีนมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพราะร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอจากสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและไขมันแล้ว ดังนั้นการรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนจึงไม่ได้เป็นสาเหตุของความอ้วน แต่ที่จริงแล้วการทานเนื้อสัตว์ที่ติดมันหรือมีไขมันแทรกเป็นจำนวนมาก อาจเป็นสาเหตุของการรับปริมาณแคลอรี่ที่มากเกินความต้องการ ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้ออกไก่ เนื้อสันใน ไข่ขาวต้ม เป็นต้น

3. ลดน้ำหนักต้องงดแป้ง

การรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ยังคงเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานและมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย การรับประทานแป้ง หรือ คาร์โบไฮเดรต ในปริมาณที่เหมาะสม จึงจะไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากปัจจุบันอาหารที่เรารับประทานจะมีส่วนประกอบของแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก จึงเกิดคำแนะนำสำหรับการลดน้ำหนักว่าให้งดแป้ง ทั้งที่จริงสารอาหารจำพวกแป้งไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความอ้วน คำแนะนำเบื้องต้นคือควรเลือกรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในมื้อเช้าและกลางวัน แต่ควรงดหรือจำกัดปริมาณในมื้อเย็น และควรเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวไม่ขัดสีต่างๆ ขนมปังโฮลวีท เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายเพิ่มขึ้นช้าๆ รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดความอยากอาหารและลดความหิวได้ สำหรับมื้อเย็นแนะนำให้เน้นทานอาหารกลุ่มโปรตีนและผักใบเขียวแทนกลุ่มแป้งจะเป็นวิธีที่ช่วยลดน้ำหนักได้

4. ลดน้ำหนักต้องทานเฉพาะผัก และผลไม้

สิ่งสำคัญของการลดน้ำหนักคือ การควบคุมปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่รับประทาน โดยไม่ให้มากกว่าปริมาณที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน และอีกอย่างที่สำคัญคือการควบคุมแคลอรี่ต้องไม่ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยการรับประทานผัก และผลไม้ เพียงอย่างเดียว ถึงจะได้รับพลังงานเพียงพอ แต่จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ จึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเฉพาะแค่ผักและผลไม้ เพื่อลดน้ำหนักเท่านั้น การรับประทานผักและผลไม้เพิ่มในมื้ออาหารแทนการทานขนมหวานหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะผักและผลไม้มีกากใย ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการขับถ่าย แต่ก็ไม่ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดจนเกินไป

5. ลดน้ำหนักต้องทานแค่ตอนที่รู้สึกหิว

การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นเวลาหรือปล่อยให้ร่างกายอดอาหารเป็นเวลานานๆ จนรู้สึกหิวจะไปกระตุ้นฮอร์โมนความเครียด หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมน Cortisol ทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูง การรับประทานอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณมากจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ และเกิดโรคอ้วนได้ ดังนั้นเราจึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานอาหารให้ตรงเวลาทั้ง 3 มื้อ

6. ลดน้ำหนัก รับประทานเร็วหรือช้าไม่มีผล

การใช้เวลาในการรับประทานอาหารเร็วหรือช้าไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่การทานให้ช้าลง หรือการเคี้ยวอาหารช้าลง จะทำให้เคี้ยวอาหารได้ละเอียดขึ้น ช่วยให้ควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวได้อีกด้วย

7. ลดน้ำหนักต้องทานอาหาร Low Fat หรือ Non Fat

การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ (Low Fat) หรือ ไม่มีไขมันเลย (Non Fat) จะช่วยลดแคลอรี่ได้มากกว่ารับประทานอาหารปกติ แต่อาหารไขมันต่ำบางส่วนอาจมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายน้อยกว่าอาหารที่มีไขมันปกติชนิดเดียวกัน อีกทั้งยังอาจต้องมีการดัดแปลงเพิ่มแป้ง เกลือ หรือน้ำตาลลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้นหลังจากเอาไขมันออกไป ดังนั้นการเลือกทานอาหารไม่ควรพิจารณาแค่ปริมาณไขมันเพียงอย่างเดียว

8. ลดน้ำหนักต้องยกเวท

การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนัก วิดพื้น เป็นต้น จะสร้างมวลกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดและควบคุมน้ำหนัก และหากออกกำลังกายอย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อก็จะไม่มีการขยายขนาดผิดปกติจนทำให้รูปร่างผิดสัดส่วนอย่างที่กังวล

9. ลดน้ำหนักต้องทานมังสวิรัติ

การทานอาหารมังสวิรัติไม่ใช่การทานอาหารเพื่อลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก อาหารมังสวิรัติบางอย่างมีคาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง สามารถทำให้อ้วนได้เช่นกัน

10. ลดน้ำหนักด้วยการทานอาหารเสริม

อาหารเสริมที่มีบทความวิจัยที่ช่วยเรื่องเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เช่น แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เออร์วินเจย (Irvingia Gabonensis) เยอร์บามาเต้ (Yerba Mate) การรับอาหารเสริมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลก็จะช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้นมากกว่าการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการใช้อาหารเสริมควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสามารถลดความอ้วนได้จริงจากการใช้อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่คนที่รับประทานอาหารเสริม เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก มักจะมีการคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย ทำให้เห็นผลลัพธ์โดยรวมเป็นน้ำหนักที่ลดลง อาจทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักที่ลดลงเกิดจากผลของอาหารเสริม

ติดตามรับข่าวสารดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/FATcenter

โปรโมชั่นพิเศษ
เฉพาะลงทะเบียน ออนไลน์เท่านั้น

[[ FAT center ]] ดูดไขมัน..แบบปลอดภัย อบอุ่น ใส่ใจ 💕ดูแลอย่างใกล้ชิดโดย…ทีมแพทย์ทุกขั้นตอน

✅มาตรฐาน ✅ปลอดภัย ✅ตรงปก ✅ไม่แพง

ติดตามรับโปรโมชั่นดีๆได้ที่นี่